วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

เนเธอร์แลนด์

                                                                         
        เนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Nederlands; อังกฤษ: Netherlands) หรือที่มักเรียกกันว่า ฮอลแลนด์ (อังกฤษ: Holland) หรือ ฮอลันดา เป็นประเทศซึ่งตั้งอยู่ในยุโรปตะวันตกตอนเหนือ ชื่อประเทศมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Neder” หรือ “ต่ำ” เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์เป็นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เนเธอร์แลนด์ได้ปรับพื้นที่โดยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบและทางน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ เนเธอร์แลนด์ได้สร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศประสบภาวะอุทกภัย เนเธอร์แลนด์จึงมีสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

File:Flag of the Netherlands.svg     
ธงชาติเนเธอร์แลนด์
 
         ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และมีสันติภาพยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลา 250 ปี ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ชนเผ่าเยอรมันนิก และเคลติก ได้เข้าไปครอบครองพื้นที่แถบนั้น
ในช่วงปี พ.ศ. 1906-2025 เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของดยุคแห่งเบอร์กันดี และในศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์ถูกปกครองโดยสเปน ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์และขุนนางจำนวนหนึ่ง ได้ก่อการปฏิวัติต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์และได้สถาปนาสาธารณรัฐดัตช์และ สามารถนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2191 (ค.ศ. 1648) จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ เพื่อสงบศึกระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปน ซึ่งดำเนินมาถึง 80 ปี และถือเป็นการประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์ด้วย
หลังจากได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิสเปน ชาวดัตช์ได้ร่วมกันฟื้นฟูประเทศจนในที่สุดได้เข้ามาสู่ยุคทอง เช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในดินแดนต่าง ๆ ของโลก เนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรปในเวลานั้น และกรุงอัมสเตอร์ดัมก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป จนมีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนถือให้เนเธอแลนด์เป็นประเทศระบอบทุนนิยมประเทศแรกของโลก
เมื่อปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสนำโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ และในปี พ.ศ. 2353 (ค.ศ. 1810) เนเธอร์แลนด์ก็ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อจักรวรรดิฝรั่งเศสเสื่อมอำนาจลงเนเธอร์แลนด์จึงได้รับเอกราชคืนมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) โดยมีเบลเยียมเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากความแตกต่างในทุก ๆ ด้านระหว่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ประเทศทั้งสองจึงได้แยกออกจากกันอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839)
เนเธอร์แลนด์ประกาศความเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 และประกาศความเป็นกลางอีกครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี กองทัพเยอรมนีได้รุกรานและยึดครองเนเธอร์แลนด์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2483-2488 ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกที่มีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรปและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคมจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) และซูรินาเมประกาศเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ส่วนเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิสและอารูบายังคงเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ โดยมีอธิปไตยในการบริหารกิจการภายในประเทศ ส่วนด้านการทหารและการต่างประเทศยังอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

                          ภาวะเศรษฐกิจและการค้า
           ชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการค้ามาช้านาน ทั้งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และการค้ากับประเทศในภูมิภาคอื่นของโลก สาเหตุที่ทำให้เชี่ยวชาญด้านนี้มีองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่านมาจากหลายประเทศในยุโรป ไปออกทะเลที่ประเทศของตน ทำให้หลายเมืองของเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นท่าเรือ ที่สำคัญ คือ ท่าเรือรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่และมีความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจึงเปิดโอกาสให้ชาวเนเธอร์แลนด์ทำการค้าได้สะดวก